อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์
เป็นอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือบ้านน้ำรีพัฒนาขึ้นไปประมาณ 1 กม. ภายในอาคารมีกำแพงอนุสาวรีย์ทรงโค้งบรรจุรายนามทหารประชาชน และประชาชนในพื้นที่ที่เสียชีวิตจากสงครามในช่วงปี2510-2526 หรือเสียชีวิตในภายหลัง ซึ่งมีการจัดงานรำลึกวีรชนประมาณวันที่10ธันวาคมของทุกปี
ผนังทั้งสี่ด้านภายในตัวอาคารจัดแสดงข้อมูล และภาพกราฟฟิคสวยงาม นำเสนอประวัติการสู้รบในพื้นที่ และการตั้งฐานที่มั่นจังหวัดน่าน ประวัติบุคคลสำคัญที่เคยอยู่ที่นี่ เช่นกวีเอกลุงอัสนี พลจันทร์ หรือนายผีผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ ลุงคำตัน หรือพ.ท.พโยม จุลานนท์ เสนาธิการกองทัพประชาชน ลุงจำรัส หรือลุงเปลื้อง วรรณศรีอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ให้ภาพข้อเท็จจริงในเชิงสรุปบทเรียนร่วมกันว่า ความอยุติธรรมอย่างรุนแรงในพื้นที่ เช่นการบังคับเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่าง กระทั่งการเก็บภาษีน้ำนมจากหญิงแม่ลูกอ่อน ได้สร้างความคับแค้นใจให้ประชาชนชายขอบผู้ยากจน จนสถานการณ์พัฒนาไปสู่สงครามได้อย่างไร แนวคิดหรือthemeหลักของที่นี่คือการสรุปบทเรียน และสร้างความสมานฉันท์ร่วมกัน
อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ เป็นทั้งอนุสรณ์สถาน และพิพิธภัณฑ์ภาคประชาชนที่สวยงาม ได้มาตรฐาน อีกทั้งให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่สาธารณชนอาจไม่ทราบมาก่อนอย่างเป็นระบบชัดเจน และน่าสนใจ จึงดึงดูดคนให้มาเที่ยวในลักษณะปากต่อปากได้อย่างมากมายตลอดทั้งปี เป็นอนุสรณ์สถานที่มีลักษณะพิเศษคือสร้างตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และสร้างความคึกคัก อีกทั้งรายได้ให้กับพื้นที่ชายขอบแห่งนี้ได้มากพอสมควร
ด้านหลังเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ชนชาิติลัวะ และม้ง
ภายในอาคารอนุสรณ์สถานมีบอร์ดกราฟฟิคเล่าภูมิหลัง ประวัติความเป็นมาของฐานที่มั่นจังหวัดน่าน แผนที่ที่ตั้งหมู่บ้านในเขต ฐานที่มั่น ประวัติบุคคลสำคัญ โดยรอบด้านในตัวอาคาร
บริเวณกลางห้องเป็นที่ตั้งของกำแพงอนุสาวรีย์ทรงโค้งบรรจุรายนามผู้พลีชีพ โอบล้อมแท่นเคารพวีรชน
อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11ธันวาคม พ.ศ.2548 ในทุกๆปีจะมีประชาชน หมู่คณะนักท่อง เที่ยว คณะดูงาน และคณะนักเรียนเดินทางมาเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นจำนวนมาก
ใจกลางกำแพงทรงโค้ง เป็นแท่นเคารพวีรชน
นักท่องเที่ยว และผู้เยี่ยมชมกำลังอ่านเรื่องราวภายในอนุสรณ์สถาน
ส่วนกลุ่มนักเรียนกำลังเก็บข้อมูลทำรายงานส่งคุณครู
บทกวีน่านเหนือจรดน่านใต้ ที่จารึกอยู่ในอาคารอนุสรณ์สถานแห่งนี้
วิวจากด้านหลังที่เป็นสนามบันเทิง
ประมาณวันที่10 ธันวาคม (อาจก่อน หรือหลังเล็กน้อย เพื่อให้ตรงกับวันหยุดยาว)ของทุกปี จะมีประชาชนจำนวนมากทั้งคนภู ดอย และคนในเมือง ทั้งมิตรสหายเก่า และนักท่องเที่ยวผู้สนใจ มาร่วมกันในงานรำลึกวีรชนภาคประชาชนอย่างเนืองแน่นเป็น ประจำมิได้ขาด
บริเวณรอบๆอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์เป็นสันภูขนาดย่อม มีที่ให้นักท่องเที่ยวกลางเต๊นท์ได้นับร้อยหลัง และมีห้องน้ำให้บริการ
หน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและกางเต๊นท์มากเป็นพิเศษ